บทกวีนิราศ ตามคลองบางกอกน้อยถึงบางใหญ่



บทกวีนิราศ
ตามคลองบางกอกน้อยถึงบางใหญ่
__________________

๑. คลองบางกอกน้อย

. . . . พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพระนิพนธ์ ถึง คลองบางกอกน้อยไว้ใน นิราศพระประธม ว่า

. . . . ถับถึงบางกอกน้อย . . . . . . . . . . นอนรบม
เรียมอยากกอกรักกรม . . . . . . . . . . . ตรากตริ้ง
วานกอกช่วยกอกระดม . . . . . . . . . . ดูดอก เรียมเอย
กอกรักเรียมเหลือทิ้ง . . . . . . . . . . . . . ทอดทิ้งกอกถอน ฯ

เมื่อ นายมี ไปพระแท่นดงรังผ่านมาถึงคลองบางกอกน้อย ได้รำพันไว้ใน นิราศพระแท่นดงรัง ว่า

มาตะบึงถึงคลองบางกอกน้อย
ยิ่งเศร้าสร้อยเสียใจเป็นใหญ่หลวง
โทมนัศกลัดกลุ้มถึงพุ่มพวง
จนลับล่วงครรไลเข้าในคลอง
เห็นตลาดท้องน้ำประจำขาย
บ้างแจวพายอึงอื้อมาซื้อของ
เห็นสาวสาวแม่ค้าน่าประคอง
พี่มองมองปะดาน่าเอ็นดู
ช่างงามเหมือนโฉมเฉลาเยาวยอด
ยังไม่ถอดกำไลใส่ตุ้มหู
น่าสงสารคอนพายมาขายพลู
ถ้าได้อยู่กับพี่จะดีครัน ฯ

เมื่อ สุนทรภู่ ไปสุพรรณ ใน พ.ศ. ๒๓๘๔ ท่านพรรณนาถึงคลองนี้ไว้ใน นิราศสุพรรณ ว่า

. . . . เลี้ยวทางบางกอกน้อย . . . . . . . . . . ลอยแล
บ้านเก่าเย่าเรือนแพ . . . . . . . . . . . . . . . . พวกพ้อง
เงียบเหงาเปล่าอกแด . . . . . . . . . . . . . . . ดูแปลก แรกเอย
รำลึกนึกรักร้อง . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . เรียกน้องในใจ ฯ

เมื่อผ่านมาอีกคราวหนึ่ง ครั้งไปพระประธม ใน พ.ศ. ๒๓๘๕ สุนทรภู่ กล่าวถึงคลองนี้ไว้ใน นิราศพระประธม ว่า

จนนาวาคลาคล่องเข้าคลองกว้าง
ตำบลบางกอกน้อยละห้อยหวน
ตลาดแพแลตลอดเขาทอดพวน
แลแต่ล้วนเรือตลาดไม่ขาดคราว
ทุกเรือแพแลลับระงับเงียบ
ยิ่งเย็นเยียบยามดึกให้นึกหนาว
ในอากาศกลาดเกลื่อนด้วยเดือนดาว
เป็นลมว่าวเฉื่อยฉิวหวิวหวัวใจ
โอ้บางกอกกอกเลือดให้เหือดโรค
อันความโศกนี้จะกอกออกที่ไหน
แม้นได้แก้วแววตามายาใจ
แล้วก็ไม่พักกอกดอกจริงจริง ฯ

คราว นายมี ไปเก็บอากรที่สุพรรณ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ ก็พรรณนาถึงคลองบางกอกน้อยนี้ไว้ใน นิราศสุพรรณ ว่า
ค่อยเลื่อนล่องเข้าคลองบางกอกน้อย
ดูเรียบร้อยเรือแพแม่ค้าขาย
ลางคนเล่าเจ้าคารมดูคมคาย
ไม่มีอายอดสูกับผู้ใด
ที่ลางคนได้ระเบียบดูเรียบร้อย
ไม่มากน้อยเจรจาอัชฌาสัย
มีคนซื้ออื้ออึงคนึงไป
ไม่มีใครชังชิงทั้งหญิงชาย
ที่ลางคนมั่งมีเพราะขี้ฉ้อ
มันทั้งขอทั้งริบเอาฉิบหาย
ลางลำเมียแจวหัวผัวแจวท้าย
ดูสบายตามประสาเขาหากิน ฯ
ส่วน หลวงจักรปาณี ( ฤกษ์ ) กล่าวถึงคลองบางกอกน้อยไว้ใน นิราศพระปฐม ว่า

อรุณรุ่งเรืองแสงแจ้งกระจ่าง
เข้าคลองบางกอกน้อยละห้อยหา
ฉันเจ็บใจไข้จิตนั้นติดมา
จะหายาหมอกอกช้ำชอกกาย
ฉันอยู่บางกอกใหญ่ยังไม่ถอย
บางกอกน้อยฤๅจะให้ไข้ใจหาย
แม่เอวบางนางกอกดอกจะคลาย
บางไม่คล้ายเอวบางไม่สร่างครวญ ฯ

๒. วังหลัง
วังหลัง คือที่ปัจจุบันนี้เป็นบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ธนบุรี กวีหลายท่านที่ผ่านวังหลังได้พรรณนาไว้ต่าง ๆ กัน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพระนิพนธ์ ไว้ใน นิราศพระประธม ว่า
. . . . วงงหลังแลอนาถโอ้ . . . . . . . . . . อนิจจัง
ไร้ราชผู้ผ่านวงง . . . . . . . . . . . . . . . . . วิบัติสิ้น
ถวิลนุชแม่เนาหลัง . . . . . . . . . . . . . . . ลับเนตร พี่เอย
ร้างคู่ดูจักดิ้น . . . . . . . . . . . . . . . . . . . ประดาษเพี้ยงวงงหลัง
. . . . เห็นวงงร้างคิดร้าง . . . . . . . . . . . แรมสมร แม่ฤๅ
ร้างเริศรักเรียมจร . . . . . . . . . . . . . . . จากน้อง
เจียรใจจะขาดรอน . . . . . . . . . . . . . . รนสวาดิ์ ราแม่
หวลกลับคิดอายต้อง . . . . . . . . . . . . . ตัดน้ำใจจร ฯ
นายมี กล่าวไว้ใน นิราศพระแท่นดงรัง ว่า
ถึงวังหลังเห็นวังสงัดเงียบ
เย็นยะเยียบรกรานิจาเอ๋ย
แต่ก่อนเปรื่องเรืองฟ้าสง่าเงย
พระคุณเคยเห็นเกล้าชาวบุรี ฯ
ส่วน สุนทรภู่ นั้น มีความสัมพันธ์กับวังหลังมากโดยที่มารดา ได้เป็น นางนมพระธิดา ในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่เคยอยู่ในวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลังมาตั้งแต่ยังเด็ก ได้รับการศึกษาที่วัดชีปะขาว ( ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า ) จนกระทั่งรุ่นหนุ่ม ได้ลอบรักใคร่กับหญิงชื่อจันทร์ ซึ่งต่อมาสุนทรภู่ก็ได้จันทร์เป็นภรรยา ทำนองเจ้าครอกข้างในชื่อทองอยู่ ซึ่งเป็นอัครชายาในกรมพระราชวังหลังจะยกประทาน แต่สุนทรภู่อยู่กับจันทร์ไม่ยืด ภายหลังหย่าร้างกัน สุนทรภู่มีภรรยาอีกชื่อนิ่มและจันทร์ก็มีสามีใหม่ สุนทรภู่ยังคงรำลึกถึงจันทร์อยู่เสมอ จึงได้รำพึงเป็นความเปรียบเปรยถึงจันทร์ไว้ในนิราศต่าง ๆ หลายเรื่องและหลายครั้ง
ใน นิราศสุพรรณ ของ สุนทรภู่ กล่าวไว้ว่า
. . . . วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า . . . . . . . . . . น้องเอย
เคยอยู่ชูชื่นเชย . . . . . . . . . . . . . . . . . . . ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย . . . . . . . . . . . . . . . . . . . ลืมพัก ที่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า . . . . . . . . . . . . . . . . คลาดแคล้วแล้วหนอ ฯ
. . . . คิดคำรำลึกไว้ . . . . . . . . . . . . . . . . ใคร่เตือน
เคยรักเคยร่วมเรือน . . . . . . . . . . . . . . . . ร่วมรู้
อย่าเคืองเรื่องเราเยือน . . . . . . . . . . . . . ยามแก่ แม่เอย
ใครที่มีชู้ชู้ . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . ช่วยค้ำคำโคลง ฯ
ใน นิราศพระประธม ของ สุนทรภู่ กล่าวไว้ว่า
ดูวังหลังยังไม่ลืมที่ปลื้มจิต
เคยมีมิตรมากมายทั้งชายหญิง
มายามดึกนึกถึงที่พึ่งพิง
อนาถนิ่งน้อยหน้าน้ำตานอง ฯ
ใน นิราศสุพรรณ ของ นายมี กล่าวไว้ว่า
ถึงวังหลังเห็นวังสงัดเงียบ
เย็นยะเยียบโรยราน่าสงสาร
เสด็จดับลับลิบเข้านิพพาน
ยังยืนนานแต่พระนามทั้งสามกรม
มีพระหน่อเจ้านายทั้งหลายมาก
บ้างตกยากเต็มที่ก็มีถม
บ้างทรงทำราชการสำราญรมย์
รับสั่งชมโปรดปรานประทานพร
มีสำเภาเลากาเป็นผาสุก
บรรเทาทุกข์ห้ามแหนแน่นสลอน
ขอชมบุญบารมีชุลีกร
แล้วเลยจรจากมาพ้นหน้าวัง ฯ

๓. บางว้าน้อยหรือบางหว้าน้อย
ตำบลบางว้า คือ เขตส่วนที่ต่อไปจากบริเวณศิริราชด้านเหนือ ตอนที่ปัจจุบันเป็นอาณาเขตสถานีรถไฟธนบุรี มีวัดบางว้าน้อย หรือวัดอมรินทราราม อยู่ปากคลองบางว้าน้อย ซึ่งในวรรณคดีประเภทนิราศกล่าวถึงไว้ดังนี้
[1]สุนทรภู่ เขียนไว้ใน นิราศพระประธม ว่า
บางหว้าน้อยน้อยจิตด้วยพิสมัย
น้อยหรือใจจืดจางให้หมางหมอง
หมายว่ารักจักได้พึ่งเหมือนหนึ่งน้อง
ให้เจ้าของขายหน้าทั้งตาปี ฯ
ใน นิราศพระปฐม ของ หลวงจักรปาณี ( ฤกษ์ ) กล่าวถึงบางหว้า ไว้ดังนี้

ถึงบางหว้าว้าใจอาไลยสมร
เหมือนเรียมจรจากนางมาห่างเห
ให้ว้าทรวงห่วงหลังอยู่ลังเล
มาว้าเหว่อ้างว้างอยู่วังเวง ฯ

๔. วัดอมรินทราราม
วัดอมรินทราราม อยู่ปากคลองบางว้าน้อย ซึ่งแยกจากคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดบางว้าน้อย ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ตั้งพระอธิการวัดนี้เป็นพระราชาคณะ ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ กรมพระราชวังหลังทรงสถาปนาใหม่และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดพระราชทานนามใหม่ว่า วัดอมรินทราราม ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์ ถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดให้ปฏิสังขรณ์อีก ในวัดนี้มีวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง มักเปิดให้ประชาชนนมัสการในกลางเดือน ๓ ทุกปี มาภายหลัง เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ วัดนี้ถูกระเบิดทำลายเสียหายมาก คงเหลือแต่โบสถ์น้อยซึ่งอยู่ริมทางรถไฟเป็นโบสถ์เก่ามีมาแต่เดิม มีพระพุทธรูปเรียกว่า หลวงพ่อวัดโบสถ์น้อย ซึ่งชาวธนบุรีนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก วัดนี้ได้รับการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์บ้างในภายหลัง
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพรรณนาไว้ใน นิราศพระประธม ของพระองค์ท่านว่า
. . . . อัมรินทราวาศเพี้ยง . . . . . . . อัมรินทร์ สฤษดิ์ฤๅ
โสภาคย์พ่างภพอินทร์ . . . . . . . . . อาจอ้าง
ขอเดชสุชามบดินทร์ . . . . . . . . . . พำนักนิ์ นุชแม่
กำจัดดัษกรมล้าง . . . . . . . . . . . . เหล่าชู้ชิงโฉม ฯ 

๕. โรงเรือ
เป็นที่เก็บเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ต่าง ๆ อยู่ในเขตตำบลศิริราช อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี โรงเรือนี้ ชาวต่างประเทศสนใจไปชมกันวันละมาก ๆ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ได้ทรงพระนิพนธ์ถึงโรงเรือไว้ใน นิราศพระประธม ว่า

. . . . โรงเรือเรียดฝั่งต้งง . . . . . . . . ตาดู
ไชยกิ่งโขนชู . . . . . . . . . . . . . . . . ท่านไว้
วานเรือช่วยรับพธู . . . . . . . . . . . . พลันพราก มาเฮย
เชอญร่วมนาเวศให้ . . . . . . . . . . . สว่างร้อนเรียมโรย ฯ

๖. บ้านบุ
บ้านบุเป็นตำบลขึ้นในอำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี ปัจจุบันมีตลาดบ้านบุ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน นิราศพระประธม ว่า

. . . . บ้านบุะบุะภาชนพ้อง . . . . . . . อุระภางค์ พี่เอย
ข่อนข่อนเพียงจักวาง . . . . . . . . . . . ชีพย์ม้วย
สูเอยพี่ไกลนาง . . . . . . . . . . . . . . . นับทุ่ม โมงแม่
แม้แม่มาได้ด้วย . . . . . . . . . . . . . . .ดับร้อนข่อนหาย ฯ

๗. วัดสุวรรณาราม
วัดสุวรรณาราม ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของคลองบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เดิมชื่อวัดทอง เป็นวัด โบราณ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้สถาปนาใหม่แล้วพระราชทานนามว่าวัดสุวรรณาราม ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังงดงามมาก
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ได้ทรงพรรณนาถึงวัดนี้ไว้ใน นิราศพระประธม ว่า

. . . . วัดสุวรรณ์บรรโบสถ์ล้ำ . . . . . . . . . . ลายสุวรรณ์
กระจ่างแจ้งแสงจันทร์ . . . . . . . . . . . . . . .แจ่มจ้า
ถวิลภักตร์พิมลพรรณ . . . . . . . . . . . . . . . โณภาษ นาแม่
ยามเมื่อผัดผิวหน้า . . . . . . . . . . . . . . . . . พิศหน้าชวนชม ฯ

๘. วัดศรีสุดาราม
เมื่อเรือแล่นไปตามทางในนิราศนี้ ไม่นานก็จะถึงวรรณคดีสถานอีกแห่งหนึ่ง คือ วัดชีปะขาว หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า วัดศรีสุดาราม ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของคลอง วัดนี้เดิมเรียกกันว่า วัดชีผ้าขาว หรือวัดชีปะขาว บางทีเรียกวัดประขาวก็มี เป็นวัดโบราณ มีมาก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ ครั้นในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ได้ทรงสถาปนาใหม่ ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ปฏิสังขรณ์ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดศรีสุดาราม
เมื่อ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เสด็จผ่านวัดชีปะขาว ก็ทรงมีอารมณ์ในเชิงกวีและทรงเปรียบเทียบโดยกล่าวอ้างตัวละครเอกในวรรณคดี คือ อิเหนาและบุษบา ตอนปะตาปา ไว้ใน นิราศพระประธมว่า

. . . . ชีประขาวนามชื่ออ้าง . . . . . . . . . . ชีฉงน
ฤๅว่าชีสัปรดน . . . . . . . . . . . . . . . . . . . แต่กี้
ชวนตาประขาวซน . . . . . . . . . . . . . . . . โลนลวก หอยแฮ
เหตุจึงปรากฏชี้ . . . . . . . . . . . . . . . . . . .ชื่อไว้สำคัญ ฯ
. . . . ถวิลปางรเด่นคลั่งไคล้ . . . . . . . . . . แอหนัง
เสมออกเรียมแรมวงง . . . . . . . . . . . . . . .คลั่งน้อง
ห่วงหน้าระวังหลัง . . . . . . . . . . . . . . . . .หลายห่วง ห่วงแฮ
ห่วงสุดห่วงห่างน้อง . . . . . . . . . . . . . . . .ห่วงให้ใจโหย ฯ

นายมี อีกคนหนึ่ง เมื่อผ่านวัดนี้ ในคราวไปพระแท่นดงรัง ได้รำพันไว้ใน นิราศพระแท่นดงรัง ของตน ว่า

มาถึงวัดชีผะขาวยิ่งเศร้าสร้อย
นาวาลอยลับไปไกลสมร
พี่กล้ำกลืนโศกาอนาทร
สะท้อนถอนจิตใจไม่สบาย ฯ

เข้าใจกันว่า วัดนี้เป็นสำนักศึกษาในวัยเยาว์ของ สุนทรภู่ กวีเอกของไทย เพราะท่านได้เขียนเล่าไว้ใน นิราศสุพรรณ ของท่านว่า

. . . . วัดปะขาวคราวรุ่นรู้ . . . . . . . . . . เรียนเขียน
ทำสูตรสอนเสมียน . . . . . . . . . . . . . . สมุดน้อย
เดินระวางระวังเวียน . . . . . . . . . . . . . หว่างวัด ปะขาวเอย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย . . . . . . . . . . . . สวาทห้องกลางสวน ฯ

นอกจากนั้น ชะรอย สุนทรภู่ จะมีความในใจไม่สบสมอารมณ์จากหญิงหม้ายรูปร่างขาวสวยชื่อ ศรีสาคร ท่านจึงได้เขียนเปรียบเทียบไว้ใน นิราศพระประธม เมื่อผ่านหน้าวัดชีปะขาวนี้ว่า

วัดประขาวขาวเหลือเชื่อไม่ได้
ด้วยดวงใจเจ้ามันคล้ำดำมิดหมี
แม่ม่ายสาวขาวโศกโฉลกมี
เหมือนแม่ศรีสาครฉะอ้อนเอว
โอ้เคราะห์กรรมจำคลาดนิราศร้าง
เพราะขัดขวางความในเหมือนไขว่เฉลว
ทั้งเกลียดลิ้นนินทาพาลาเลว
เหมือนควันเปลวปลิวต้องให้หมองมอม
เสียดายแต่แม่ศรีเจ้าพี่เอ๋ย
จะชวดเชยชวดชิดสนิทสนอม
เหมือนดอกไม้ไกลแกนเพราะแตนตอม
ใครแปลงปลอมปลิดสอยมันต่อยตาย ฯ

และคราวไปพระประธม เมื่อผ่านหน้าวัดระฆังได้กล่าวขวัญถึงแม่ศรีสาครผู้นี้ไว้เป็นข้อความเปรียบเปรยก็ครั้งหนึ่งว่า

ยังเหลือแต่แม่ศรีสาครอยู่
ไปสิงสู่เสน่หานางสาหงส์
จะเชิญเจ้าเท่าไรก็ไม่ลง
ให้คนทรงเสียใจมิได้เชย ฯ

กวีอีกท่านหนึ่ง คือ หลวงจักรปาณี ( ฤกษ์ ) ได้กล่าวถึงวัดชีปะขาวไว้ในบทนิพนธ์ นิราศพระปฐม คราวไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ว่า

วัดชีปะขาวขาวชีก็มีเหลือ
ไม่เหมือนเนื้อนวลสาวที่ขาวขำ
จะแลไหนก็วิไลวิลาศล้ำ
ดังหนึ่งน้ำทิพสุรามายาทรวง ฯ

๙. บางขุนนนท์
บางขุนนนท์ อยู่ทางฝั่งใต้ของคลองบางกอกน้อย เป็นตำบลขึ้นอยู่ในอำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน นิราศพระประธม ว่า

. . . . บางขุนนนชื่ออ้าง . . . . . . . . . . แต่ปาง
รอยชื่อขุนนายบาง . . . . . . . . . . . . . บอกไว้
ขุนเอยนิราศนาง . . . . . . . . . . . . . . .นอนเปลี่ยว มาพ่อ
ขุนช่วยบอกเยาวให้ . . . . . . . . . . . . .รีบร้อนตามเรียม ฯ

สุนทรภู่ คราวไปพระประธม ก็กล่าวถึงบางขุนนนท์ ไว้ใน นิราศพระประธม เช่นกัน ท่านเขียนไว้ว่า

บางขุนนนท์ต้นลำพูดูหิงห้อย
เหมือนเพชรพร้อยพลอยพร่างสว่างไสว
จังหรีดร้องซร้องเสียงเรียงเรไร
จะแลไหนเงียบเหงาทุกเหย้าเรือน ฯ

ส่วน หลวงจักรปาณี ( ฤกษ์ ) นั้น เมื่อถึงบางขุนนนท์ก็ได้แสดงชั้นเชิงกวีของท่าน โดยพรรณนาไว้ใน นิราศพระปฐม ด้วย แต่ได้พรรณนาภายหลังจากที่ได้กล่าวถึงบางผักหนามและบางบำหรุแล้ว ว่า

โอ้มณฑายาหยีของพี่เอ๋ย
เมื่อไรเลยจะได้ชมประสมสอง
แม้ดอกฟ้าคลาเคลื่อนลงเหมือนปอง
ก็ไม่ต้องขวายขวนเที่ยวซนซุก
เมื่อเข้าที่ปฎิพัทธปัจฐรณ์
จะกล่าวกลอนกล่อมเล่นให้เป็นสุข
บางขุนนนพี่ต้องทนเหมือนนนทุก
สุดจะปลุกปล้ำใจให้สบาย ฯ

๑๐. บางผักหนาม
บางผักหนาม มีคลองบางผักหนามแยกจากคลองบากกอกน้อย ทางฝั่งเหนือ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพระนิพนธ์ถึงบางผักหนามนี้ไว้ใน นิราศพระประธม ของพระองค์ท่านว่า

. . . . บางผักหนามนึกเสี้ยน . . . . . . . . . . ศัตรู นุชนา
เรียมบำราศเยาวยุ- . . . . . . . . . . . . . . . . รยาตรแล้ว
อยู่หลังเกลือกปวงริปู . . . . . . . . . . . . . . . ปองเสน่ห์
ใครจักกรรขนิษฐ์แผ้ว . . . . . . . . . . . . . . . แผกพ้นพาลไภย ฯ

หลวงจักรปาณี ( ฤกษ์ ) ก็อีกท่านหนึ่ง ได้รำพันเชิงนิราศเกี่ยวกับบางผักหนามไว้ใน นิราศพระปฐม ของท่านว่า

โอ้พูเอกเมขลาจะหาไหน
แต่จากไปมิได้คืนมาหื่นหวง
ที่ริมน้ำทำรอเหมือนฬ่อลวง
รอให้ง่วงตำตอสิรอตาย
โอ้ที่ยุบบุบไถลนั้นไม่หัก
เช่นที่รักมิได้ชมเหมือนสมหมาย
บางผักหนามยามยากหากเสียดาย
ได้ตั้งกายมาเพราะปามผักหนามดอง ฯ 

๑๑. บางบำหรุ
บางบำหรุ ตั้งอยู่ฝั่งเหนือของคลองบางกอกน้อย ปากคลองบางบำหรุมีวัดนายโรง และตอนลึกเข้าไปในลำคลองบางบำหรุ ก็ยังมีวัดบางบำหรุอีกวัดหนึ่ง
กำศรวลศรีปราชญ์ ซึ่งน่าจะนับได้ว่า เป็นวรรณคดีเชิงนิราศเรื่องเอก ในประวัติวรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาและเป็นแบบแผนของการแต่งโคลงนิราศในยุคหลังสืบมาจนทุกวันนี้ ได้กล่าวถึงบางบำหรุไว้ว่า

. . . . ฝ่ายสยงสุโนกไห้ . . . . . . . . . . . . . หานาง แม่ฮา
รยมทนนทึงแทงโลม . . . . . . . . . . . . . . .ลิ้นเล้า
มาดลบำรุะคราง . . . . . . . . . . . . . . . . . ครวญสวาสดิ
ให้บำรุะหน้าเหน้า . . . . . . . . . . . . . . . . จอดใจ ฯ
. . . . บำรุะบำราษแก้ว . . . . . . . . . . . . . กูมา
จักบำรุงใครใคร . . . . . . . . . . . . . . . . . . ช่วยได้
บรับบเร่อมอา . . . . . . . . . . . . . . . . . . . บ่ร่าง ละเลอย
โอ้บเร่อมน้องให้ . . . . . . . . . . . . . . . . . .ไฝ่เหนสองเหน ฯ

กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ก็ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับบางบำหรุไว้ใน นิราศพระประธม ด้วยเช่นกัน มีความว่า

. . . . บางบำหรุะเหมือนพี่ไร้ . . . . . . . . . . บำรุง
จากสถิตย์สถานกรุง . . . . . . . . . . . . . . . .กลิ่นสิ้น
เคยเนานุชปรนปรุง . . . . . . . . . . . . . . . . .สุคนธ์ส่ง พี่นา
มาตรากแดดลมริ้น . . . . . . . . . . . . . . . . .เริศร้างบำเรอห์ ฯ

สุนทรภู่ ก็ได้พรรณนาอารมณ์เชิงกวีเกี่ยวกับบางบำหรุไว้ใน นิราศพระประธม ของท่านว่า

บางบำหรุเหมือนบำรุงรัก
จะพึ่งพักพิศวาสเหมือนมาดหมาย
ไม่เหมือนนึกตรึกตรองเพราะสองราย
เห็นฝักฝ่ายเฟือนหลงด้วยทรงโลม ฯ

หลวงจักรปาณี ( ฤกษ์ ) อีกท่านหนึ่ง ที่ได้ฝากฝีปากในเชิงกวีนิพนธ์เกี่ยวกับบางบำหรุไว้ใน นิราศพระปฐม ว่า

บางบำหรุเรียมบำเรอเสนอพักตร์
โอ้ทรามรักเจ้าก็มุ่งบำรุงสนอง
เพราะต่างศักดิ์มิได้สมนิยมปอง
แต่ลอบลองแลเหลียวไม่เปรี้ยวเค็ม ฯ
๑๒. บางระมาด
บางระมาด เป็นตำบลขึ้นในอำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี อยู่ทางฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย มีคลองบางระมาดแยกคลองศาลจ้าว ไปจดหนองขี้เหล็ก ในอำเภอตลิ่งชัน ใน กำศรวลศรีปราชญ์ได้กล่าวถึงบางระมาดไว้ว่า

. . . . กล้วยอ้อยเหลืออ่านอ้าง . . . . . . . . . . ผักนาง
จรหลาดเลขคนหนา . . . . . . . . . . . . . . . . . ฝ่งงเฝ้า
เยียมาลุดลบาง . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . รมาต
ถนัดรมาตเต้นเต้า . . . . . . . . . . . . . . . . . . .ไต่ฉนยร ฯ

ใน นิราศพระประธม ของ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ว่า

. . . . บางระมาดนามแม้นมาท . . . . . . . . . . หมายมิตร
ประมาณสี่ห้าปีคิด . . . . . . . . . . . . . . . . . . . มาทน้อง
มาทนุชหนึ่งสุจริต . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .เรียมมาท
ห่อนมาทรักอื่นพ้อง . . . . . . . . . . . . . . . . . . .เฉพาะสร้อยสุดาเดียว ฯ

ใน นิราศพระแท่นดงรัง ของ นายมี ว่า

ถึงตำบลบางระมาดอนาถจิต
เหมือนพี่คิดมุ่งมาดสวาทหมาย
ก็ได้สมชมน้องประคองกาย
แล้วกลับกลายพลัดพรากไปจากทรวง ฯ

ใน นิราศสุพรรณ ของ สุนทรภู่ ว่า

. . . . บางระมาดมิ่งมิตรครั้ง . . . . . . . . . . คราวงาน
บอกบทบุนยังพยาน . . . . . . . . . . . . . . . .พยักหน้า
ประทุนประดิษฐาน . . . . . . . . . . . . . . . . แทนฮ่อง หอเอย
แหวนประดับกับผ้า . . . . . . . . . . . . . . . . พี่อ้างรางวัล

สุนทรภู่ คราวไปพระประธม ก็กล่าวถึงบางระมาดไว้ใน นิราศพระประธม ว่า

บางระมาดหมายสายสวาท
ว่าสมมาดเหมือนใจแล้วไม่เหมือน
แสนสวาทมาดหมายมาหลายเดือน
มีแต่เคลื่อนแคล้วคลาดประหลาดใจ ฯ

คราว นายมี ครั้งเป็นหมื่นพรหมสมพัตสร ไปเก็บอากรเมืองสุพรรณ ก็พรรณนาไว้ใน นิราศสุพรรณ อีกว่า

บรรลุถึงบางระมาดอนาถจิต
นิ่งพินิจนึกในน้ำใจประสงค์
เคยจดจำสำคัญไว้มั่นคง
ด้วยพันธุ์พงศ์พวกพ้องในคลองมี
มาเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวคราวขันหมาก
เพื่อนก็มากมาประมวลอยู่สวนศรี
เพราะผู้หญิงตลิ่งชันขยันดี
เขาจึงมีเมียสวนแต่ล้วนงาม
ที่บางกอกกินหมูอยู่ไม่ได้
มาพอใจจงรักกินผักหนาม
ออกชื่อเพื่อนแต่ในใจอย่าไอจาม
จะแวะถามกลัวจะช้าขอลาเอย ฯ

หลวงจักรปาณี ( ฤกษ์ ) ก็ได้กล่าวถึงบางระมาดไว้ใน นิราศพระปฐม ว่า

บางระมาดเหมือนพี่มาดสวาทหวัง
ไม่สมดังพิศวาสเหมือนมาดหมาย
ที่ได้ชมสมมาดยังคลาดคลาย
เพราะหลายรายหลายรักหนักอารมณ์
เหมือนแม่น้ำลำคลองเป็นสองแยก
สุดจะแจกจักใจออกให้สม
สางสารสาลิกานางที่บางพรม
ฤดูลมล่องหาวจะหนาวใจ ฯ
๑๓. วัดไก่เตี้ย
วัดไก่เตี้ย ตั้งอยู่ปากคลองวัดไก่เตี้ย ในเขตอำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี อยู่ทางฝั่งตะวันตกของลำคลองวัดชะลอ เป็นวัดโบราณ ท่านเจ้าพระยารัตนาพิพิธ ( สน สนธิรัตน์ ) ในรัชกาลที่ ๑ ได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นในรัชกาลนั้น
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพระนิพนธ์ถึงวัดไก่เตี้ย ไว้ใน นิราศพระประธม ของพระองค์ท่านว่า

. . . . เรือถึงวัดไก่เตี้ย . . . . . . . . . . ตาแสวง
หาไก่ป่าปู่แปลง . . . . . . . . . . . . . .แต่กี้
ภาลอลิลาศสมแพง . . . . . . . . . . . เพื่อนพี่ น้องนา
ว่านช่วยนำนุชชี้ . . . . . . . . . . . . . .ช่องเต้าตามเรียม ฯ
. . . . ถวิลลอราชคลั่งไคล้ . . . . . . . ใหลหลง
ถึงเพื่อนแพงสององค์ . . . . . . . . . . พี่น้อง
เสมอพี่คลั่งไคล้พวง . . . . . . . . . . . หวังสุด สวาดิ์นา
รักฤสมเสน่ห์ข้อง . . . . . . . . . . . . . .ขัดค้างขวางเชิง ฯ

ใน นิราศพระแท่นดงรัง ของ นายมี กล่าวไว้ว่า

มาถึงวัดไก่เตี้ยยิ่งเสียจิต
นั่งพินิจเสียดายไม่หายห่วง
ยิ่งแลลับแก้วตาสุดาดวง
ครรไลล่วงล่องลอยนาวามา ฯ

ส่วน สุนทรภู่ นั้น ท่านเขียนไว้ใน นิราศพระประธม คราวไปพระประธม ว่า

วัดไก่เตี้ยไม่เห็นไก่เห็นไทรต่ำ
กอระกำแกมสละขึ้นไสว
หอมระกำก็ยิ่งช้ำระกำใจ
ระกำไม่เหมือนระกำที่ช้ำทรวง ฯ

นายมี เขียนไว้ใน นิราศสุพรรณ ว่า

มาถึงวัดไก่เตี้ยละเหี่ยละห้อย
เห็นไก่ต้อยเตี้ยวิ่งแล้วนิ่งเฉย
ไม่ก่งคอขันฟังเล่นบ้างเลย
ฤๅไม่เคยขันขานรำคาญคอ
ฤๅกลัวแร้วรึงจะตรึงรัด
เป็นไก่วัดฤๅว่าไก่ของใครหนอ
ดูสีเหลืองเลิศล้วนนวลละออ
น่าใคร่ต่อไปถวายไว้ในวัง
ด้วยไก่เตี้ยเช่นนี้เห็นทีจะโปรด
คงเป็นโสดสุดสมอารมณ์หวัง
แต่ไม่มีไก่ต่อต้องรอรั้ง
ก็นิ่งนั่งเลยไปครรไลจร ฯ

ใน นิราศพระปฐม ของ หลวงจักรปาณี ( ฤกษ์ ) กล่าวไว้ว่า

วัดไก่เตี้ยไก่ใครก็ไม่รู้
คิดถึงอยู่เคหานิจจาเอ๋ย
เมื่อไก่ขันพลันตื่นชื่นเสบย
โอ้ไก่เคยขันกู่เหมือนรู้คอ ฯ 

๑๔. สวนแดน
สวนแดน คลองในตำบลตลิ่งชัน อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี อยู่ระหว่างวัดไก่เตี้ยกับวัดน้อยใน ปากคลองแยกจากคลองวัดชะลอที่วัดไก่เตี้ย ไปจดคลองศาลจ้าว ยาวราว ๓ กิโลเมตร
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพระนิพนธ์ถึง สวนแดน ไว้ใน นิราศพระประธม ว่า

. . . . สวนแดนมาลุด้าว . . . . . . . . . . แดนสวน
ถวิลบ่วายรำจวน . . . . . . . . . . . . . . . จิตร์ไหม้
เห็นสวนคิดใคร่ชวน. . . . . . . . . . . . . สมรเที่ยว สวนแม่
แม้ไม่ขัดมาได้. . . . . . . . . . . . . . . . . หยุดค้างชมสวน ฯ

สุนทรภู่ พรรณนาถึง ใน นิราศพระประธม ว่า

ถึงสวนแดนแสนเสียดายสายสวาท
มาสิ้นชาติชนมโลกให้โศกแสน
ไปสวรรค์ชั้นบนคนละแดน
ไม่ร่วมแผ่นภพโลกยิ่งโศกใจ ฯ

หลวงจักรปาณี ( ฤกษ์ ) ก็กล่าวไว้ใน นิราศพระปฐม ของท่านว่า

ถึงสวนแดนแสนเสียดายสายสุดา
พสุธาเดียวจะห่างไปต่างแดน
มาเปล่าเปลี่ยวเที่ยวทุเรศอยู่เขตสวน
ให้โหยหวนห่วงนุชนี้สุดแสน
ได้ชมแต่แพรบางไว้ต่างแทน
ไม่เหมือนแม้นนอนแอบได้แนบแนม ฯ

๑๕. สวนหลวง
สวนหลวง อยู่ฝั่งตะวันตกของคลองวัดชะลอ ระหว่างวัดน้อยในถึงวัดชัยพฤกษมาลา ต่อมาตกเป็นที่ของคุณจอมกลีบในรัชกาลที่ ๕ แล้วแบ่งขายบ้าง ถวายเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดชัยพฤกษมาลาบ้าง และมีที่ซึ่งตกเป็นของนางชื่น ทองอร่าม ภายในที่ผืนนี้ยังมีสระกว้างยาวประมาณร้อยเมตร และมีลำคู ( ตรงข้ามวัดพิกุล ) ขุดแยกจากคลองวัดชะลอฝั่งตะวันตกเข้าไปสู่สระ ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นทางเรือพระที่นั่งในเวลาเสด็จประพาส แต่เดี๋ยวนี้คูและสระตื้นเขินเสียแล้ว
ใน นิราศสุพรรณ ของ สุนทรภู่ กล่าวถึงสวนหลวงไว้ว่า

. . . . สวนหลวงแลสล่างล้วน . . . . . . . . . . พฤกษา
เคยเสด็จวังหลังมา . . . . . . . . . . . . . . . . . เมื่อน้อย
ข้าหลวงเล่นปิดตา . . . . . . . . . . . . . . . . . ต้องอยู่ โยงเอย
เห็นแต่พลับกับสร้อย . . . . . . . . . . . . . . . .ซ่อนซุ้มคลุมโปง ฯ

สุนทรภู่ พรรณนาถึงสวนหลวงไว้ใน นิราศพระประธม ดังนี้

ถึงสวนหลวงหวงห้ามเหมือนความรัก
เหลือที่จักจับต้องเป็นของหลวง
แต่รวยรินกลิ่นผกาบุปผาพวง
จะรื่นร่วงเรณูฟูขจร
โอ้ไม้ต้นคนเฝ้าแต่เสาวรส
ยังปรากฏกลิ่นกล่อมหอมเกสร
แต่โกสุมภุมรินมาบินวอน
ไม่ดับร้อนร่วงกลิ่นให้ดิ้นโดย ฯ

ใน นิราศพระปฐม ของ หลวงจักรปาณี ( ฤกษ์ ) กล่าวไว้ว่า

ถึงสวนหลวงดวงงามใต้ขามอก
ต้องขอยกไว้เป็นหลวงไม่ล่วงขอ
แต่ของสาวชาวสวนนวลลออ
จะของ้อขอรักขอชักชวน
ด้วยบางกอกถึงจะอยู่กินหมูหัน
ไม่หวานมันเหมือนมะพร้าวของชาวสวน
ยิ่งเจือไข่ใส่หวานน้ำตาลกวน
ยิ่งน้ำนวลเนื้อหมูไม่สู้เลย ฯ
หนังสือ "บทกวีนิราศตามคลองบางกอกน้อยถึงบางใหญ่" ฉบับถ่ายเอกสาร มาจากคุณ "ปุ้มปุ้ย" แต่ยังไม่เคยเห็นการพิมพ์หนังสือเล่มนี้เพื่อการจำหน่าย จึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจาก คุณ เกษมสำราญ สิงหสุต ให้ช่วยพิมพ์ เพื่อจะได้บทกวีชั้นเยี่ยมของไทยมาประกอบภาพให้ชาวจักรยานได้อ่านและชมกันอย่างสะดวก และเป็นการช่วยเผยแพร่งานรวบรวมบทร้อยกรองอันทรงคุณค่าโดย คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ อีกด้วย .. หนังสือ "บทกวีนิราศตามคลองบางกอกน้อยถึงบางใหญ่" ได้คัดบางส่วนจากบทกวี ๗ ฉบับ คือ

๑. กำศรวลศรีปราชญ์ (โคลง ). . . . ของ ศรีปราชญ์ สมัยอยุธยา
๒. นิราศพระประธม ( โคลง ). . . . ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิท แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๗ สมัยรัตนโกสินทร์
๓. นิราศพระแท่นดงรัง ( กลอน ). . . . ของ นายมี แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ สมัยรัตนโกสินทร์
๔. นิราศสุพรรณ ( โคลง ) . . . . ของสุนทรภู่ แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔ สมัยรัตนโกสินทร์
๕. นิราศพระประธม ( กลอน ). . . . ของ สุนทรภู่ แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ สมัยรัตนโกสินทร์
๖. นิราศสุพรรณ ( กลอน ). . . . ของ นายมี แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ สมัยรัตนโกสินทร์
๗. นิราศพระปฐม ( กลอน ). . . . ของ หลวงจักรปาณี ( ฤกษ์ ) เข้าใจว่าแต่งราว พ.ศ. ๒๔๑๗ สมัยรัตนโกสินทร์

ทราบว่ากลุ่มย่อย "หนังสือ-การประพันธ์" อยู่ที่นี่ คิดว่าน่าจะมีผู้สนใจโคลงกลอน จึงนำมาฝาก .. กระทู้ค่อนข้างยาวนะครับ เชิญคลิกชมได้ที่ -
>http://www.thaimtb.com/cgi-bin/viewkatoo.pl?id=23840 ...

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
งานประชาสัมพันธ์ อาคารประชาสัมพันธ์ โรงเรียนชลราษฎรอำรุง โทรศัพท์ /Tel: 038 282078 Ext. 101 โทรสาร/Fax : 038 282079 e-mail: khwuanyuen@gmail.com; prcru101@gmail.com
ขับเคลื่อนโดย Blogger.